Cropped Image

ของเสียจากกระบวนการผลิต

ของเสียจากกระบวนการผลิต

ความสำคัญและความมุ่งมั่นขององค์กร

ของเสียจากกระบวนการผลิตเป็นหนึ่งในประเด็นที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเสียอันตราย ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพนักงาน รวมถึงชื่อเสียงของบริษัทฯ และการอนุญาตให้ดำเนินการของธุรกิจ

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทฯ มุ่งเน้นการลดปริมาณของเสียโดยการป้องกันและลดการใช้ (Prevention & Reduction) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการนำกลับคืนมาใช้เป็นเชื้อเพลิง (Recovery) ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณของเสียที่นำไปกำจัดด้วยการเผาหรือการฝังกลบ บริษัทฯ กำหนดมาตรฐานการบริหารจัดการของเสียให้สอดคล้องตามหลักปฏิบัติสากลรวมถึงข้อกำหนดของแต่ละประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอยู่ ภายใต้ระบบการบริหารจัดการ 5 ขั้นตอน ได้แก่

1. การวางแผน: บ่งชี้แหล่งกำเนิดของเสีย ความเป็นอันตราย และวิธีการกำจัด

2. การจัดเก็บ: จัดเก็บของเสียอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

3. การขนส่ง: ขนส่งของเสียตามมาตรฐาน พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลการขนส่ง

4. การบำบัดและกำจัด: นำกลับมาใช้ซ้ำและใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด และหลีกเลี่ยงการฝังกลบ

5. การติดตาม: ตรวจติดตามระบบการจัดการของเสียให้เป็นไปตามมาตรฐาน

สำหรับเถ้าและยิปซัมสังเคราะห์ซึ่งเป็นผลพลอยได้ (By-product) จากโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถส่งไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมคอนกรีตและปูนซีเมนต์ บริษัทฯ คัดแยกขนาดของเถ้าและยิปซัมสังเคราะห์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยเตรียมพื้นที่เก็บกองให้เพียงพอกับปริมาณและสอดคล้องกับข้อกำหนด รวมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

ของเสียจากการทำเหมือง

บริษัทฯ เน้นควบคุมความเสี่ยงตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินการผลิตผ่านการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น เพื่อประเมินว่าหน่วยธุรกิจใดมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับของเสียจากการทำเหมือง นอกจากนี้ยังจัดทำมาตรฐานการบริหารจัดการของเสียจากการทำเหมืองที่ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเริ่มจนกระทั่งสิ้นสุดการทำเหมือง ดังนี้

กิจกรรม

ของเสียจากการทำเหมือง


ดินจากการทำเหมือง
บริษัทฯ วางแผนจัดการดินจากการทำเหมืองร่วมกับแผนการทำเหมืองตั้งแต่ก่อนเริ่มกิจกรรมการผลิต โดยเริ่มจากการสำรวจสภาพทางธรณีวิทยาและศึกษาคุณสมบัติของดินเพื่อนำไปสร้างแบบจำลองและจำแนกประเภทของดินก่อนนำมาวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดหน้าดินในการทำเหมืองเท่าที่จำเป็นและถมดินกลับคืนในพื้นที่ (In-pit Backfill) ให้ได้มากที่สุด
ตะกอนดิน
บริษัทฯ จัดทำแผนการบริหารจัดการตะกอนดิน (Tailings Management Plan) โดยนำหลักการของการประเมินความเสี่ยงมาประยุกต์ใช้ตั้งแต่การเลือกพื้นที่จัดเก็บตะกอนดินจนถึงการคืนพื้นที่เมื่อสิ้นสุดโครงการควบคู่ไปกับการตรวจสอบและซ่อมบำรุงพื้นที่การจัดเก็บตะกอนดินโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอกอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ในออสเตรเลียได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดมาตรฐานและแนวทางในการตรวจติดตามพื้นที่จัดเก็บตะกอนดิน (Tailings Storage Facility) ทั้งนี้ แผนการบริหารจัดการตะกอนดินจะถูกทบทวนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแผนการทำเหมืองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
การจัดการน้ำที่เป็นกรดจากการทำเหมือง
บริษัทฯ จัดทำมาตรฐานการจัดการน้ำที่เป็นกรดจากการทำเหมืองเพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน โดยผนวกการบริหารจัดการน้ำที่เป็นกรดเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานผ่านการประชุมแผนทำเหมืองเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ในกรณีที่เกิดน้ำเป็นกรด น้ำดังกล่าวจะต้องได้รับการบำบัดให้มีคุณภาพผ่านมาตรฐานก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกหรือก่อนการปิดเหมือง

ภาพรวมการดำเนินงานในรอบปี

ในปี 2566 บริษัทฯ ลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตโดยมีการนำมาใช้ซ้ำและใช้ใหม่ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการนำถ่านหินที่หกรั่วไหลกลับมาใช้ใหม่ โดยการผสมถ่านหินที่หกรั่วไหลกลับเข้าไปในกระบวนการขนส่งในอินโดนีเซีย โครงการจัดทำแผนผังการบริหารจัดการของเสียในธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม เป็นต้น

Performance Advance