
พลังงาน
พลังงาน


ความสำคัญและความมุ่งมั่นขององค์กร
พลังงานเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน อันนำมาซึ่งความผันผวนของต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมรวมถึงธุรกิจของบริษัทฯ การบริหารจัดการการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นประเด็นที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ
แนวทางการบริหารจัดการ
บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผนวกแผนบริหารจัดการพลังงานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ด้วยลักษณะของธุรกิจที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินกิจการ เช่น เหมืองในอินโดนีเซียเป็นเหมืองแบบเปิด ในขณะที่เหมืองในออสเตรเลียเป็นเหมืองใต้ดิน รูปแบบการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานจึงมีความแตกต่างกัน ดังนี้
ธุรกิจเหมืองแบบเปิด: พลังงานส่วนใหญ่ถูกใช้ในกิจกรรมการขนส่งถ่านหินและดินด้วยรถบรรทุก โครงการอนุรักษ์พลังงานจึงเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของระบบขนส่งดังกล่าว เช่น การปรับเปลี่ยนจากการใช้รถบรรทุกเป็นการใช้สายพานในการขนส่งดินขึ้นจากบ่อเหมือง หรือการปรับปรุงเส้นทางเดินรถขนส่งถ่านหินเพื่อใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น
ธุรกิจเหมืองใต้ดิน: พลังงานส่วนใหญ่ถูกใช้ในกิจกรรมการขุดเจาะดินด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่และการขนส่งด้วยสายพานลำเลียง โครงการอนุรักษ์พลังงานจึงเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น การใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติในการคำนวณความเร็วที่เหมาะสมในการขุดเจาะและลำเลียงถ่านหิน การตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักรอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
ธุรกิจไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั่วไป: พลังงานส่วนใหญ่ถูกใช้ในกระบวนการเผาเชื้อเพลิงต้มน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นการควบคุมประสิทธิภาพผ่านการปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าและความร้อนให้เหมาะสมกับฤดูกาลและความต้องการของลูกค้า
ธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา: พลังงานส่วนใหญ่ถูกใช้ในกิจกรรมการเดินทางด้วยยานพาหนะขนาดเล็ก บริษัทฯ จึงเน้นการวางแผนการเดินทางเพื่อให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด
ภาพรวมการดำเนินงานในรอบปี
บริษัทฯ ได้ปรับแผนการจัดการพลังงานให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเพื่อผลักดันการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในปี 2566 บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นในพันธสัญญาที่จะใช้พลังงานทางเลือก โดยสานต่อการใช้ไบโอดีเซล B30 ในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไบโอดีเซล B35 มาใช้ในเหมืองทุกแห่ง ควบคู่ไปกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในจีนอย่างต่อเนื่อง
